เมื่อคุณซื้อโฆษณา Facebook หลังจากที่คุณเลือกวัตถุประสงค์ของแคมเปญและเลือกกลุ่มเป้าหมายเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนถัดมาคือการเลือกตำแหน่งการจัดวางโฆษณา หรือ Placement ซึ่งตรงนี้ Facebook ก็จะมีตัวเลือกให้คุณคือ ให้จัดวางโดยอัตโนมัติ หรือ กำหนดการจัดวางด้วยตัวคุณเอง
ตรงนี้ก็จะมีคำถามที่ผมได้ยินบ่อยมาก ๆ คือ “เลือกแบบไหนดี?” “เลือกแพลตฟอร์มอะไรบ้าง?” “เลือกแสดงตรงไหนดีที่สุด?” เป็นคำถามสุดคลาสสิคที่ผมเชื่อว่าคุณต้องเคยสงสัยบ้างล่ะ แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจว่าโฆษณาของคุณควรจะใช้ตำแหน่งการจัดวางแบบไหน คุณต้องรู้ก่อนว่าตำแหน่งและแพลตฟอร์มที่โฆษณาของคุณจะโชว์ มีอะไรบ้าง
ตำแหน่งการจัดวางของ Facebook ads มีอะไรบ้าง
ณ ปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มที่โฆษณา Facebook จะไปโชว์ได้ 4 แพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, Audience Network และ Messenger บางคนอาจจะงงว่าทำไมบางตำแหน่งคุณไม่สามารถเลือกได้ ตรงนี้ผมต้องอธิบายว่าบางตำแหน่งก็ไม่สามารถใช้งานได้ในบางวัตถุประสงค์โฆษณา เพื่อให้โฆษณาของคุณทำงานเต็มประสิทธิภาพอย่างเหมาะสมกับวัตถุประสงค์มากที่สุด
ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีแยกย่อยในเรื่องของตำแหน่งการแสดงผลอีก มาทำความรู้จักแต่ละแพลตฟอร์มเลยครับ
1. Facebook ตัวหลักของเราเลย ซึ่งโฆษณาก็จะแทรกอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของหน้า Facebook โดยคุณจะสังเกตได้ว่า Facebook พยายามที่จะไปแสดงผลโฆษณาโดยหลีกเลี่ยงหน้าโปรไฟล์ของเพื่อนคุณให้ได้มากที่สุดตามนโยบายหลักว่าอยากให้ประสบการณ์การใช้งานของผู้คนนั้นดีที่สุด โดยมีตำแหน่งการจัดวางดังนี้
ฟีด Facebook – หน้าแรก Facebook นั่นแหละครับ ตำแหน่งยอดนิยมที่เรียกว่าไม่เลือกไม่ได้
Facebook Marketplace – เป็นตำแหน่งที่เหล่านักช็อปในร้านค้ามักจะเห็นบ่อย ๆ
วิดีโอที่ Facebook แนะนำ – ถ้าใครชอบดูวิดีโอก็จะเห็นครับว่าไทม์ไลน์วิดีโอของคุณมักถูกแทรกด้วยโฆษณาแบบวิดีโอเสมอ
คอลัมน์ด้านขวาของ Facebook – เป็นโฆษณาที่จะเห็นเฉพาะบนเดสก์ท็อปเท่านั้น
Facebook Stories – ตรงตัวเลยครับ สำหรับคนที่ชอบดูสตอรี่ของเพื่อน ๆ ใน Facebook คงจะเจอบ่อย
วิดีโอแบบในสตรีมบน Facebook – เจ้าจุดเหลือง ๆ ที่คั่นระหว่างคุณดูคลิปนั่นแหละครับคือตำแหน่งการจัดวางนี้
Instant Articles บน Facebook – บทความบน Facebook ก็เป็นอะไรที่ได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง ดังนั้น Facebook จึงไม่พลาดที่จะแทรกโฆษณาไปในตำแหน่งนี้ด้วย
2. Instagram ผมจะโดนถามบ่อยมากในเรื่องการทำโฆษณา Instagram และที่ผมมักจะแนะนำก็คือ มันไม่ต่างจากการทำโฆษณา Facebook เลย เพราะคุณทำโฆษณาครั้งเดียวสามารถโชว์ได้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มยอดฮิตชาวไทยทั้ง FB & IG โดย Instagram จะมีตำแหน่งการจัดวางดังนี้
ฟีด Instagram – เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่ไม่เลือกไม่ได้ถ้าคุณต้องการจับกลุ่มลูกค้าที่ใช้ Instagram เป็น Social Network หลัก
Instagram Stories – ตัวนี้ก็จะทำงานเหมือน Facebook Stories เลยครับ ตามความเห็นของผม ถ้าคุณเลือกที่จะยิงหาลูกค้าใน Instagram การทำมีเดียให้เหมาะกับโฆษณาบนสตอรี่นั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
3. Audience Network หลาย ๆ คนสงสัยว่ามันคืออะไร อธิบายง่าย ๆ คือเป็นแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่น และ เว็บไซต์ ที่เป็น Thrid-party ของ Facebook ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ Facebook ไม่ได้เป็นเจ้าของเองโดยตรงนั่นเองครับ
โฆษณาแบบเนทีฟ โฆษณาแบนเนอร์ และโฆษณาคั่นบน Audience Network – นึกถึงเวลาคุณโหลดแอพอะไรมาแล้วระหว่างใช้ก็จะมีโฆษณาเด้งขึ้นมา มันเป็นอารมณ์นั้นเลยครับ
วิดีโอที่มีรางวัลหลังชมจบบน Audience Network – อันนี้คนชอบเล่นเกมจะเข้าใจดี ยกตัวอย่างคุณเล่นเกมแล้วต้องการเงินรางวัลในเกมเพิ่ม อาจจะมีปุ่มให้กดชมโฆษณาเพื่อรับเงินเพิ่ม เป็นต้น
วิดีโอแบบในสตรีมของ Audience Network – หลักการทำงานแบบเดียวกับโฆษณาวิดีโอในสตรีมบน Facebook เลยครับ
4. Messenger บางคนเรียกแชทเฟสหรืออินบอกซ์ ซึ่งการแสดงผลโฆษณาในแพลตฟอร์มนี้ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะปัจจุบัน Messenger ก็เป็นแอพที่คนไทยนิยมดาวน์โหลดแบบติด Top5 เลยทีเดียว แม้จะมีตำแหน่งในการจัดวางไม่มาก แต่ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้
Messenger Stories – คล้าย ๆ กับ FB และ IG stories ครับ แต่ไปแสดงผลใน Messenger แทน
กล่องข้อความ Messenger – อันนี้จะเป็นอารมณ์แบนเนอร์ที่ใหญ่สะดุดตาโชว์ในส่วนของหน้าแชท
ข้อความ Messenger ที่ได้รับการสนับสนุน – การแสดงผลจะเล็กกว่ากล่องข้อความ จะดูเนียน ๆ เหมือนเป็นหนึ่งในแชทเพื่อน ๆ ของคุณเลย
คุณไม่จำเป็นจะต้องจำทั้งหมดนี้ก็ได้ครับ เพราะเพียงแค่คุณเอาเม้าส์ไปวางก็จะมีตัวอย่างการแสดงผลของโฆษณาให้ดู แถมยังมีแนะนำขนาดของมีเดียที่ต้องใช้อีกต่างหาก เพียงแค่ทำความเข้าใจในจุดเด่นของแต่ละตำแหน่งก็เพียงพอแล้วครับ
โฆษณาแบบไหน ควรวางในตำแหน่งไหน
อย่างที่ผมบอกไปว่า ในตอนที่คุณเลือกแก้ไขตำแหน่งการจัดวาง Facebook จะแนะนำอยู่แล้วครับว่าตำแหน่งไหนควรจะใช้โฆษณาแบบไหน คำถามว่าควรจะวางตำแหน่งไหนดี คำแนะนำที่ดีที่สุดของผมก็คือ “ถ้าทำโฆษณา 1 ตัวแล้วสามารถแสดงได้ทุกแพลตฟอร์มจะดีที่สุด” แต่ในความเป็นจริงมีเดียบางตัวก็ไม่สามารถแสดงได้ทุกตำแหน่ง เช่น ภาพนิ่งไม่สามารถแสดงบนวิดีโอที่ Facebook แนะนำได้ ดังนั้นผมจะขอแนะนำแบบนี้ครับ
สำหรับภาพนิ่ง – ถ้าเป็นการเล่าเรื่องจบได้ในภาพเดียวจะดีที่สุดครับ แต่การใช้ภาพเป็นอัลบั้มก็ไม่ได้แย่กว่าเสมอไป โดยคุณต้องตรวจสอบให้ดีว่าแสดงผลใน IG กับ FB แล้วภาพมีความสวยงามเหมือนกันไหม ซึ่งผมแนะนำให้ใช้ภาพขนาด 1:1 จะเหมาะสมที่สุดครับถ้าอยากใช้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มพร้อมกัน
สำหรับวิดีโอ – ขนาดและความยาวเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะวิดีโอที่แสดงบนสตอรี่นั้นผมไม่แนะนำให้ใช้แนวนอนนะครับรวมไปจนถึงความยาวของคลิปก็ต้องสามารถแสดงผลได้ ตรงนี้ก็ต้องเช็คให้ดีถ้าคุณจะเลือกการจัดวางหลาย ๆ ตำแหน่งพร้อมกัน โชว์ที่ไหนก็ต้องสวยที่นั่นล่ะครับ
สำหรับมีเดียอื่น ๆ – ไม่ว่าจะเป็น Canvas, Collection, Slideshow หรืออื่น ๆ ก็เลือกตำแหน่งที่สามารถจัดวางได้ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกตำแหน่งการจัดวางผมอยากให้คำนึงถึงมีเดียที่คุณใช้และวัตถุประสงค์ในการโฆษณาให้สอดคล้องกัน แล้วคุณก็จะสามารถเลือกตำแหน่งการจัดวางโฆษณาได้อย่างเหมาะสม เข้าถึงกลุ่มที่คุณต้องการ แล้วบรรลุสิ่งที่คุณตั้งไว้ในที่สุดครับ